เมนู
- บทความในฉบับ
- เวทีนักเขียน
- กระดานสนทนา
- สมัครสมาชิก
- หนังสือน่าอ่าน
- ค้นหางานวิจัย
- ส่งบทความ
ฉบับพิเศษ
สิงหาคม 2560
เว็บไซต์ที่เกี่ยวข้อง






จำนวนผู้เข้าชม
3371913
รายละเอียด


“Thailand 4.0 มิได้เกี่ยวข้องเฉพาะมิติของนวัตกรรมแต่เพียงอย่างเดียว แต่หัวใจสำคัญของ Thailand 4.0 คือ มุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพของคนไทยให้มีความรู้ ทักษะ และความสามารถสูงพอที่จะสร้างนวัตกรรม รวมถึงมีจิตสาธารณะ รับผิดชอบต่อสังคม เป็นคนทันโลกและเทคโนโลยี นอกจากนี้ เป้าหมายของโมเดลยังรวมถึงการสร้างสังคมแห่งความรู้และการแบ่งปันความรู้”
ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เริ่มต้นบรรยายถึงเหตุผลในการเปลี่ยนผ่านประเทศไทยไปสู่โมเดล Thailand 4.0 เนื่องจากที่ผ่านมาประเทศไทยติดอยู่ในกับดักหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเป็นประเทศรายได้ปานกลาง ปัญหาความเหลื่อมล้ำ และความไม่สมดุลของสังคม เป็นต้น ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์โลกในด้านต่างๆ ทำให้ประเทศไทยต้องปรับตัวให้ทัน

คำตอบของคำถามข้างต้นก็คือ ต้องเริ่มพัฒนาคนไทยที่สามารถสร้างวิสาหกิจ ซึ่งสามารถสร้างหรือใช้นวัตกรรมในการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและบริการ มีความสามารถในการค้าขาย เข้าถึงตลาดในประเทศ ตลอดจนตลาดโลกได้ เช่น การเปลี่ยนเกษตรกรรมแบบดั้งเดิมให้เป็นเกษตรกรรมที่ทันสมัย การเปลี่ยนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises; SME) แบบดั้งเดิมให้เป็น SME ที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม การเปลี่ยนธุรกิจบริการแบบดั้งเดิมให้เป็นธุรกิจบริการมูลค่าสูง เป็นต้น นอกจากนี้ยังต้องกระจายความเจริญออกไปสู่ระดับภูมิภาคด้วย ทั้งนี้การขยายความเจริญนั้น จำเป็นต้องอาศัยความเข้มแข็งของเศรษฐกิจทั้ง 76 จังหวัด ซึ่งเปรียบเสมือนเครื่องยนต์ที่ขับเคลื่อนประเทศ โดยรัฐบาลคาดหวังจะให้มีเครื่องยนต์แห่งการขับเคลื่อนไปสู่หลายระดับ ไม่ว่าจะเป็นระดับประเทศ ระดับอาเซียน หรือบางกลุ่มจังหวัดอาจเป็นเครื่องยนต์แห่งการขับเคลื่อนระดับโลกได้ ดร.สุวิทย์ยังได้กล่าวเสริมว่า การพัฒนาประเทศแบบในอดีต (Thailand 3.0) ที่ไม่ได้ยืนบนขาของตัวเอง พึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ เป็นเสมือนใช้จมูกคนอื่นหายใจ ประเทศจึงต้องสร้างความเข้มแข็งบนรากแก้วของประเทศเองที่อยู่ในระบบนิเวศที่สมดุลในสี่มิติ ทั้งในแง่ของความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ ความอยู่ดีมีสุขของผู้คนในสังคม การรักษ์สิ่งแวดล้อม และการส่งเสริมศักยภาพและคุณค่าของมนุษย์ จึงจะนับได้ว่าเป็นการพัฒนาที่สมดุลตามหลักแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง
ดร.สุวิทย์กล่าวเพิ่มเติมว่าโจทย์ในระดับนโยบายที่สำคัญของ Thailand 4.0 คือ การยกระดับคุณค่าของมนุษย์ กล่าวคือการพัฒนาคนไทยให้เป็น “มนุษย์ที่สมบูรณ์ในศตวรรษที่ 21” ที่สามารถขับเคลื่อนประเทศได้ด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นเอง สามารถสร้างความเข้มแข็งทางเทคโนโลยีจากภายในตนเอง เพื่อสร้างความเจริญและกระจายออกไปสู่ภูมิภาค นอกจากนี้ ประเทศไทยยังต้องสร้างความเชื่อมโยงในด้านต่างๆ กับประเทศในกลุ่มอาเซียนและโลก ที่ผ่านมา ยุทธศาสตร์ในการพัฒนาชาติอาจยังไม่ชัดเจน แต่ต่อจากนี้ไป Thailand 4.0 จะเป็นกรอบแนวคิดยุทธศาสตร์ที่จะทำให้ประเทศขับเคลื่อนไปข้างหน้า ผ่านกลไก 3 ด้าน คือ การปฏิรูป การจัดทำยุทธศาสตร์ และการสร้างความปรองดองในสังคม โดยทั้งหมดนี้จะถูกขับเคลื่อนโดย “คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง\" (ป.ย.ป.) ซึ่งประกอบด้วยคณะกรรมการ 4 ชุด ได้แก่ (1) คณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ (2) คณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ (3) คณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง และ (4) คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์
ปัจจุบันประเทศไทยมีหลายเรื่องที่ต้องซ่อม มีหลายสิ่งที่ต้องเสริม และมีบางเรื่องที่ต้องสร้างใหม่ ดังนั้นจึงเกิดวาระในเชิงนโยบายขึ้น 3 เรื่อง คือ ซ่อม เสริม สร้าง เพื่อรักษาสถานภาพปัจจุบันและเตรียมการสู่อนาคต การซ่อมเป็นการเยียวยา/รักษา ซึ่งอาจมีเป้าหมายอยู่ที่คนไทย 1.0 คนไทย 2.0 หรือ SME แบบดั้งเดิมเพื่อให้มีศักยภาพในการพัฒนาขั้นต่อไป การเสริมสร้างหมายถึงสิ่งที่หากได้รับการสนับสนุนเพิ่มขึ้นก็อาจมีศักยภาพพัฒนาไปสู่ระดับโลก เช่น สมุนไพรไทย เป็นต้น ขณะที่การสร้างเป็นการสร้างฐานรากเพื่อเตรียมการสู่อนาคต สิ่งที่ต้องสร้างหมายถึงสิ่งที่ถ้าประเทศไม่ทำวันนี้ จะไม่มีโอกาสอีกเลยในอนาคต ตัวอย่างเช่น การสร้างท่าเรือเพื่อดึงดูดการลงทุน ดังนั้นการวิจัยจากนี้ไปจะต้องมองทั้งภาพในระยะสั้นและในระยะยาว ต้องมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาไปสู่จุดหมาย พร้อมๆ กับการปรับเปลี่ยนตามสภาพแวดล้อมเพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ประเทศไทยด้วย ดังนั้น งานวิจัยของประเทศควรต้องมีทั้งแบบที่เห็นผลในระยะสั้นและระยะยาว

สำหรับตัวชี้วัดสำคัญที่จะใช้ในการติดตามการขับเคลื่อนของทั้ง 5 วาระยุทธศาสตร์ ตลอดจนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้ง 4 ด้าน และกลไกการบริหารจัดการใน 5 ปีแรก ตัวอย่างตัวชี้วัดของการเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21 ได้แก่ การที่มหาวิทยาลัยไทยติด 100 อันดับแรกของโลก อย่างน้อย 3 สถาบัน เด็กไทยมี IQ และ EQ เฉลี่ยไม่ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ผู้สูงอายุมีงานทำและมีรายได้เหมาะสมกับศักยภาพ หรือการพัฒนาแรงงานฝีมือคุณภาพจำนวน 500,000 คน เป็นต้น ในส่วนของตัวชี้วัดการพัฒนาเกษตร อุตสาหกรรม และภาคบริการเป้าหมาย ได้แก่ การมีรายได้จากการท่องเที่ยวไม่ต่ำกว่า 4 ล้านล้านบาท มีผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง (High-Value Products) จากพืชและสมุนไพร อย่างน้อย 8 ผลิตภัณฑ์ และการต่อยอด 5 กลุ่มเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ ยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจริยะ การท่องเที่ยงเชิงสุขภาพ การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ และการแปรรูปอาหารแห่งอนาตต ให้สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มากกว่า 500,000 ล้านบาท เป็นต้น ตัวชี้วัดด้านการเสริมสร้างความเข้มแข็งผ่าน 18 กลุ่มจังหวัดและ 76 จังหวัด ได้แก่ การเพิ่มสัดส่วนของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product; GDP) จากร้อยละ 69.2 ของ GDP เป็นร้อยละ 75 ของ GDP หรือการมีมูลค่าการลงทุนในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษชายแดนเพิ่มขึ้นร้อยละ 30 เป็นต้น และตัวชี้วัดการบูรณาการอาเซียนเชื่อมไทยสู่ประชาคมโลก ได้แก่ มูลค่าของการค้าชายแดนขยายตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 10 ต่อปี และการเกิดบรรษัทข้ามชาติระดับโลกสัญชาติไทยอย่างน้อย 2 บรรษัท เป็นต้น
ดร.สุวิทย์ยังได้ให้แนวคิดว่าต่อไปนี้โจทย์วิจัยควรมีลักษณะเด่น 3 ประการ คือ (1) ต้องตรงตามอุปสงค์ประเทศ (Demand Side) ต้องเน้นงานวิจัยเชิงพาณิชย์และนวัตกรรม เพื่อตอบโจทย์ประเทศให้มากขึ้น (2) มีจุดเน้นที่ชัดเจน (Very Focus) ให้เกิดความเชี่ยวชาญอย่างแท้จริง และ (3) ควรเป็นงานวิจัยที่มีความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ (Collaboration) ให้มากขึ้น และสุดท้ายได้ฝากไว้ว่า Thailand 4.0 เป็นการขับเคลื่อนทางสังคมที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงประเทศ จึงต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากคนไทยทุกภาคส่วนที่จะพัฒนาตนเองและนำพาประเทศไทยไปสู่เป้าหมาย Thailand 4.0 ได้สำเร็จ