เมนู
- บทความในฉบับ
- เวทีนักเขียน
- กระดานสนทนา
- สมัครสมาชิก
- หนังสือน่าอ่าน
- ค้นหางานวิจัย
- ส่งบทความ
ฉบับพิเศษ
สิงหาคม 2560
เว็บไซต์ที่เกี่ยวข้อง






จำนวนผู้เข้าชม
2814345
รายละเอียด


เมธีวิจัยอาวุโส สกว.
หน่วยวิจัยด้านแคลเซียมและกระดูก คณะวิทยาศาสตร์
ภาควิชาสรีรวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ และ
สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล
naratt@narattsys.com

ทั้งเมนทอร์และโค้ชมีความสำคัญยิ่งต่อเส้นทางอาชีพของนักวิจัยรุ่นใหม่อย่างมิควรมองข้าม เนื่องจากเป้าหมายที่จะได้ผลงานวิจัยที่จะนำไปใช้ประโยชน์ได้ในเชิงพาณิชย์ อุตสาหกรรม หรือสร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่สังคม ต้องอาศัยเส้นทางที่ยาวไกล หลายครั้งมีสิ่งดึงดูดใจ หรือจุดพักในระหว่างทาง ซึ่งทำให้นักวิจัยใหม่หันเหออกนอกเส้นทางและอาจต้องลองผิดลองถูกอยู่หลายครั้งกว่าจะไปถึงเป้าหมายเดิมที่ตั้งใจไว้ สำหรับเมนทอร์หรือผู้ที่กำลังจะเป็นเมนทอร์ หน้าที่หลัก ๆ คือ ต้องช่วยนักวิจัยใหม่ให้กำหนดเป้าหมาย (goal) รวมถึงช่วยวางแผนความคาดหวัง (expectation) ที่ต้องประสพพบเจอในระหว่างเส้นทาง และในการทำงานกับสถาบันในประเทศไทย เมนทอร์ยังอาจช่วยสนับสนุนวัสดุและเครื่องมือวิจัยที่ทันสมัยเพื่อช่วยนักวิจัยใหม่ด้วย กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เมนทอร์ควรจะช่วยจัดเตรียมสิ่งแวดล้อมที่พรั่งพร้อมในระดับหนึ่ง ที่เอื้อต่อการพัฒนานักวิจัยใหม่ให้เป็นนักวิจัยรุ่นกลางและนักวิจัยระดับโลกที่สมบูรณ์ทั้งด้านความรู้ จริยธรรม และจรรยาบรรณ
“เมนทอร์ควรเป็นนักวิจัยที่มากประสบการณ์ ทำหน้าที่ร่วมกับนักวิจัยใหม่ในการกำหนดความคาดหวังและเป้าหมายใหญ่ ๆ”
ในหลาย ๆ กรณีนักวิจัยใหม่จำเป็นต้องอาศัยโค้ช ซึ่งอาจเป็นคนเดียวกันกับเมนทอร์ก็ได้ ในทัศนะของผู้เขียน เมนทอร์ควรเป็นนักวิจัยที่มากประสบการณ์ ทำหน้าที่ร่วมกับนักวิจัยใหม่ในการกำหนดความคาดหวังและเป้าหมายใหญ่ ๆ เช่น มีความคาดหวังว่าจะขอทุนวิจัยด้วยตนเอง และมีเป้าหมายในอีก 20 ปีข้างหน้าที่จะได้วัคซีนป้องกันโรค สร้างความมั่นคงให้ประเทศ เป็นต้น ส่วนโค้ชจะเป็นผู้ที่อยู่หน้างานกับนักวิจัยใหม่ ซึ่งอาจเป็นนักวิจัยรุ่นพี่หรือรุ่นกลางที่มีประสบการณ์มากกว่า (นักวิจัยใหม่อาจมีโค้ชหลายคนก็ได้) ให้คำแนะนำที่สามารถปฏิบัติได้จริง เป็นคำแนะนำที่สร้างสรรค์ กระตุ้นให้นักวิจัยใหม่ต้องพัฒนาตนเองตลอดเวลา ไม่ติดอยู่ในมุมสงบหรือมุมสบายของตนเอง (comfort zone) โค้ชยังเป็นผู้ที่ช่วยสร้างแรงบันดาลใจ และเป็นที่ปรึกษาเฉพาะหน้า ซึ่งช่วยให้นักวิจัยใหม่ที่กำลังพบกับอุปสรรคสามารถเดินต่อบนเส้นทางการเป็นนักวิจัยอาชีพได้ และสามารถให้คำแนะนำภาคปฏิบัติในเรื่องสำคัญ ๆ ที่จำเป็นต่ออาชีพนักวิจัย เช่น เรื่องเทคนิคทางห้องปฏิบัติการ การเขียนบทความวิจัย รวมถึงการตอบคำถามผู้ประเมินบทความ การเรียบเรียงบทความปริทัศน์ เอกสารการสอน หนังสือหรือตำรา การนำเสนอผลงานวิจัยทั้งรูปแบบโปสเตอร์และแบบปากเปล่า การรับฟังโจทย์วิจัยจากภาคเอกชน การบริการวิชาการที่ถูกต้องตามระเบียบข้อบังคับของมหาวิทยาลัย จริยธรรมด้านการวิจัย การแบ่งเวลางานและเวลาส่วนตัวให้สมดุล ฯลฯ
หลักคิดหนึ่งของการมีระบบเมนทอร์หรือโค้ชคือ นักวิจัยใหม่ไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นอาชีพนักวิจัยจากศูนย์ ทุกคนควรเรียนรู้จากความรู้ที่มีอยู่เดิม ไม่ว่าจะเป็นความรู้ที่ปรากฏชัด (explicit knowledge) และความรู้ที่ไม่ปรากฏชัดแจ้ง (tacit knowledge) โดยไม่จำเป็นต้องลองผิดลองถูกด้วยตนเองในทุกเรื่อง เพราะเส้นทางของนักวิจัยยังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องเรียนรู้ด้วยตนเองรออยู่อีกมาก ทั้งความรู้ใหม่ด้านวิทยาศาสตร์ที่เพิ่มขึ้นทุกวัน รวมถึงปัจจัยภายนอกอื่น ๆ ที่เข้ามามีผลกระทบต่อการทำงาน อาทิ ระบบประกันคุณภาพแบบใหม่ นโยบายของรัฐ ทัศนคติของภาคเอกชน แม้แต่ทัศนคติของนักศึกษา เป็นต้น นักวิจัยใหม่จึงควรใช้องค์ความรู้และทักษะชีวิตของเมนทอร์และโค้ชเป็นพื้นฐาน เพื่อทำให้ตนเองมีองค์ความรู้ใหม่ (body of knowledge) หรือภูมิปัญญาที่สามารถใช้แก้ปัญหาอย่างบูรณาการ (wisdom) ได้ทันต่อสถานการณ์โลก ในเวลาที่รวดเร็วและทันต่อเหตุการณ์ ตัวอย่างเช่น นักวิจัยใหม่ควรปรับตัวเช่นใดเพื่อจะขอทุนวิจัยเมื่อนโยบายของแหล่งทุนเปลี่ยนจากการเน้นสร้างองค์ความรู้เพียงอย่างเดียวไปสู่การสร้างองค์ความรู้ที่ต้องสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้โดยตรง หรือการที่นโยบายของแหล่งทุนเปลี่ยนจากการพัฒนานวัตกรรมที่มาจากโจทย์ของผู้วิจัย (supply side) ไปเป็นโจทย์ที่มาจากประเทศ สังคม หรือภาคเอกชน (demand side) เมนทอร์และโค้ชที่มีประสบการณ์จะช่วยให้นักวิจัยใหม่ปรับตัวอย่างสมดุล ทำให้สามารถตอบความคาดหวังทั้งของตนเองและบรรลุความต้องการของสังคมได้ไม่ยากนัก
คำถามสำคัญของนักวิจัยใหม่ที่พบบ่อยคือ เราจะหาเมนทอร์และโค้ชได้อย่างไรคำตอบคือ ขอให้ลองเริ่มจากนักวิจัยรุ่นพี่หรือนักวิจัยอาวุโสใกล้ตัว เช่น ผู้ที่อยู่ในสถาบันเดียวกันหรือมหาวิทยาลัยเดียวกัน โดยควรเป็นผู้ที่ทำงานวิจัยในสาขาวิชาเดียวกันหรือใกล้เคียงกับนักวิจัยใหม่ ซึ่งประเด็นนี้อาจถูกใช้เป็นเกณฑ์การประเมินเพื่อขอรับทุนวิจัยของนักวิจัยรุ่นใหม่ด้วย กล่าวคือ ในบางกรณี เมื่อนักวิจัยใหม่เสนอโครงการวิจัยไปยังแหล่งทุน เช่น ฝ่ายวิชาการ สกว. ผู้ประเมินโครงการวิจัยจะพิจารณาศักยภาพของเมนทอร์ที่ดูแลนักวิจัยรุ่นใหม่ด้วย ดังนั้นการจะหาเมนทอร์ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบและรอบด้าน ต้องทำให้ผู้ประเมินโครงการวิจัยเห็นว่า นักวิจัยที่ทำหน้าที่เมนทอร์สามารถช่วยเหลือแนะนำนักวิจัยใหม่คนนั้น ๆ ได้จริง
อนึ่ง นอกจากงานวิจัยที่ตรงตามสาขาของนักวิจัยใหม่แล้ว นักวิจัยที่เป็นเมนทอร์ควรมีผลงานวิจัยโดดเด่นเป็นที่ประจักษ์ชัด อาทิ มีผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติที่ตนเองเป็นผู้ดำเนินการหลัก (เป็น first หรือ corresponding author) จำนวนมาก เคยเป็นผู้บรรยายรับเชิญในเวทีวิชาการระดับนานาชาติ ได้รับรางวัลด้านการวิจัยระดับชาติและนานาชาติ ได้รับทุนวิจัยที่ส่งเสริมให้มีการสร้างกลุ่มวิจัยขนาดใหญ่ มีประสบการณ์ในการนำความรู้จากงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ (research utilization) และมีประสบการณ์ในการให้คำปรึกษานักวิจัยรุ่นใหม่ เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีฐานข้อมูลผู้เชี่ยวชาญของหลายสถาบัน อาทิ Biodata ของ สกว. หรือรายชื่อผู้ที่ได้รับรางวัลระดับชาติ เช่น นักวิทยาศาสตร์ดีเด่น นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ และเมธีวิจัยอาวุโส เป็นต้น ซึ่งนักวิจัยใหม่สามารถเข้าถึงข้อมูลของผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้ได้ง่าย และผู้เชี่ยวชาญในระดับนี้มักจะเห็นตรงกันว่า การให้คำปรึกษานักวิจัยใหม่ให้เดินบนเส้นทางของนักวิจัยอาชีพเป็นหน้าที่สำคัญประการหนึ่งของนักวิจัยอาวุโส นักวิจัยรุ่นใหม่จึงควรหาโอกาสได้พูดคุย (เช่น ในงานประชุมวิชาการ) หรือนัดหมายกับนักวิจัยอาวุโสโดยตรงเพื่อขอคำแนะนำปรึกษาเกี่ยวกับงานวิจัยและเส้นทางอาชีพนักวิจัย เมื่อมีแนวทางวิจัยไปในแนวทางเดียวกันก็อาจสามารถทำงานวิจัยร่วมกันได้ไม่ยาก
ประการสุดท้ายที่ฝากถึงนักวิจัยรุ่นใหม่ คือ การโค้ชและให้คำปรึกษาแก่นักวิจัยรุ่นใหม่เป็น “soft skill” ซึ่งเป็นทักษะชีวิตรูปแบบหนึ่ง และเป็นมากกว่าแค่ทักษะทางวิชาการ หมายความว่า การให้คำปรึกษาในรูปแบบที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลจนนำไปสู่การสร้างคนที่มีคุณภาพของสังคมไม่สามารถสอนด้วยการพูดบรรยายหรือการอ่าน แต่ต้องฝึกการเป็นเมนทอร์และโค้ชอย่างสม่ำเสมอด้วยตนเอง ดังนั้นนักวิจัยรุ่นใหม่จึงควรเรียนรู้และซึมซับวิธีการให้คำปรึกษาจากเมนทอร์และโค้ช หรือบุคคลต้นแบบ (role model) และฝึกฝนการให้คำปรึกษาแก่นักวิจัยหลังปริญญาเอก นักศึกษาบัณฑิต หรือนักศึกษาปริญญาตรีที่อยู่ในความดูแลอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเป็นการเพิ่มทรัพยากรบุคคลให้แก่คณะ สถาบันวิจัย มหาวิทยาลัย และประเทศไทยของเราอย่างยั่งยืน