เมนู
- บทความในฉบับ
- เวทีนักเขียน
- กระดานสนทนา
- สมัครสมาชิก
- หนังสือน่าอ่าน
- ค้นหางานวิจัย
- ส่งบทความ
ฉบับพิเศษ
สิงหาคม 2560
เว็บไซต์ที่เกี่ยวข้อง






จำนวนผู้เข้าชม
2597044
รายละเอียด


ศ. ดร.ประมวล ตั้งบริบูรณ์รัตน์
แนวคิดเพื่อก้าวสู่การพัฒนาสังคมยั่งยืนยุคใหม่ให้บรรลุเป้าหมายนั้น ต้องพัฒนาให้เกิดการสมดุลระหว่างการพัฒนาสังคม การพัฒนาสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาเศรษฐกิจ “การสร้างคน” ถือเป็นเรื่องหนึ่งที่จะทำให้เกิดสมดุลตามแนวคิดของการเติบโตอย่างยั่งยืน และเป็นภารกิจสำคัญของโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) ซึ่งเป็นโครงการของรัฐที่ให้ทุนวิจัยระดับปริญญาเอก ผลิตคนและผลงานวิจัยในมหาวิทยาลัยไทยให้ได้มาตรฐานสากล บริหารจัดการโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ศ.ดร.ประมวล ตั้งบริบูรณ์รัตน์ อดีตผู้อำนวยการ คปก.ท่านที่ห้า ได้บริหารจัดการ คปก. เพื่อยกระดับการสร้างคน คปก. อย่างไรบ้าง ติดตามการทำงานของท่านได้ในฉบับนี้

ดุษฎีบัณฑิต คปก. ที่ผลิตได้มีจำนวนน้อยกว่าที่ตั้งใจไว้มาก ถ้าอ่านจากเอกสารที่ผู้ใหญ่ผู้ก่อตั้ง คปก. บันทึกไว้ ท่านเล่าว่าเมื่อเกือบ 20 ปี มาแล้วนั้น ประเทศไทยขาดแคลนนักวิจัยอย่างมาก คือ มีนักวิจัย 2 คน ต่อประชากร 10,000 คน จึงทำให้การวิจัยและพัฒนาเป็นไปได้น้อยมาก ไม่ต้องพูดถึงนวัตกรรม และท่านก็คาดหวังให้ประเทศไทย ณ วันนี้ มีนักวิจัย 25 คน ต่อประชากร 10,000 คน แต่ความจริงคือ ยังมีเพียง 13.6 คน ต่อประชากร 10,000 คน ซึ่งแน่นอนว่า คปก. มีส่วนสำคัญมากต่อการสร้างนักวิจัยคุณภาพสูงให้เกิดขึ้นในประเทศไทย คือ ปีละประมาณ 200 คน ด้วยความสามารถของ “แม่ไก่” คือ อาจารย์ที่ปรึกษาไทย และระบบบัณฑิตศึกษาของไทยที่เข้มแข็งขึ้นมากโดยแท้ ซึ่งกฏเกณฑ์ต่าง ๆ ที่ คปก. กำหนดขึ้น เช่น นักศึกษา คปก. จะสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกได้ก็ต่อเมื่อมีผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติที่มีมาตรฐานสากล ผลโดยตรงที่นอกจากจะสร้างนักวิจัยใหม่ที่ทำวิจัยเองเป็นแล้ว ยังสามารถเขียน paper เองก็เป็นด้วย ทำให้ ranking ของมหาวิทยาลัยไทยดีขึ้น มีผลงานวิชาการที่เป็นองค์ความรู้เผยแพร่ไปทั่วโลก โดยอาจารย์ที่ปรึกษา คปก. สามารถสร้างผลงานวิจัยดี ๆ (ที่อาจทำทั้งหมดได้ยากมากในประเทศไทย) ร่วมกับอาจารย์ที่ปรึกษาร่วมในต่างประเทศ อันเป็นการทำงานเป็นเครือข่ายแบบผนึกกำลัง
“แม้สัญญาของ คปก. ไม่ได้ระบุให้ชดใช้ทุนเมื่อเรียนจบ แต่มากกว่า 90% ของดุษฎีบัณฑิต คปก. กลับมาทำงานในประเทศไทย และมากยิ่งไปกว่านั้น คือ กลับไปทำงานในภูมิภาค ทำความเจริญให้กับมหาวิทยาลัยในต่างจังหวัด”

คงจะเป็นคำตอบของคำถามที่ว่า คปก. มีส่วนช่วยพัฒนาสังคมอย่างไร และมีผลต่อเศรษฐกิจอย่างไร คงไม่จำเป็นต้องยกตัวอย่างทีละโครงการวิจัย เพราะจุดเด่นหนึ่งของ คปก. คือ โจทย์วิจัยที่เป็นวิทยานิพนธ์ในทุกสาขาที่ให้ทุนไปนั้น ต้องเป็นปัญหาของประเทศไทย เช่น กล้วยไม้ สมุนไพร ข้าว ยางพารา และโรคเขตร้อน รวมทั้งทางกฎหมาย ประชากร สถาปัตยกรรม โบราณคดี และวรรณคดี ที่ก็คงเห็นกันบ้างแล้วในข่าวตามสื่อต่างๆ แบบข่าวมะม่วงมหาชนก


ที่ผ่านมาผู้บริหาร คปก. แต่ละท่านก็ไม่ได้นิ่งนอนใจพยายามใช้กลไกต่าง ๆ เพื่อเพิ่มนักวิจัยสาขาขาดแคลน เช่น การร่วมให้ทุนกับมหาวิทยาลัยในสาขาที่ต้องการ การจัดให้มีผู้ประสานงานรายสาขา เป็นต้น เมื่อมาถึงจุดที่เห็นว่าควรสร้างนักวิจัยให้ไปทำงานในภาคอุตสาหกรรม คปก. ก็ร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) จนในที่สุดเกิดโครงการพัฒนานักวิจัยและงานวิจัยเพื่ออุตสาหกรรม (พวอ.) ขึ้น ส่วนด้านชุมชนก็มี คปก.-พื้นที่ โดยใช้โจทย์วิจัยของท้องถิ่น ร่วมมือกันผลิตนักวิจัยใหม่ตามกลไกประชารัฐ ดังนั้น ในยุคปัจจุบันการจัดสรรทุน คปก. จึงเข้มข้นขึ้น โดยกำหนดให้ทุนในสาขาที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ตอบโจทย์อุตสาหกรรมเป้าหมาย (ที่ยังไม่อาจร่วมให้ทุนได้ตามเงื่อนไข พวอ.) มีความร่วมมือกับฝ่ายต่าง ๆ ของ สกว. เช่น คปก.-Climate change ที่สนับสนุนโดยประเทศจีน เพื่อการวิจัยและพัฒนาสภาพอากาศในภูมิภาค และต้องสร้างบุคลากรขึ้นอีกมาก
คปก. มียุทธศาสตร์ที่ชัดเจนในการต้องร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ โดยมีหน่วยงานรัฐที่มี MOU ไปแล้ว ได้แก่ กรมวิชาการเกษตร กรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ สถาบันวัคซีนแห่งชาติ และอีก 3 หน่วยงานของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วัตถุประสงค์ คือ สร้างนักวิจัยเก่ง ๆ ให้กับหน่วยงานดังกล่าวที่ต้องทำวิจัยใกล้ชิดประชาชน ยกระดับความสามารถของหน่วยงานรัฐด้านวิจัยที่ทำให้ประเทศพึ่งพาตนเองได้ เพิ่มความเชื่อมโยงของการวิจัยในหน่วยงานนั้นกับมหาวิทยาลัยไทยและต่างประเทศตามกลไกของ คปก. โดยมีโจทย์วิจัยที่มีผู้รอใช้งานจริง ๆ ทั้งนี้ต้องไม่ละเลยคุณภาพของการสร้างองค์ความรู้โดยรักษามาตรฐานของ คปก. ไว้ให้ได้อย่างเคร่งครัด
ต้องขอเล่าว่าเมื่อต้องนำเสนอ คปก.ระยะที่ 2 ต่อคณะรัฐมนตรี ทำให้ต้องสำรวจข้อมูลของดุษฎีบัณฑิต คปก. ว่าใครอยู่ที่ไหน? ทำอะไร? เป็นไปตามเป้าหมายของการสร้างนักวิจัยหรือไม่? คปก. สมควร ดำเนินการต่อไปได้อีก 20 ปีข้างหน้าหรือไม่? อย่างไร? มีข้อมูลส่วนหนึ่งที่เห็นแล้วทำให้รู้สึกเสียดาย คือ มีดุษฎีบัณฑิต คปก. จำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะที่ทำงานในมหาวิทยาลัยราชภัฏ/ราชมงคลต่างจังหวัด ที่เริ่มทำวิจัยได้ยากด้วยภารกิจรัดตัว และสภาพแวดล้อมที่อาจจะไม่เอื้อให้ขอทุนขนาดใหญ่ ดังนั้น ในปี 2559 จึงได้ริเริ่มให้ทุน “คปก. ต่อยอด” ใช้งบกลางของ สกว. ให้เงิน 2 แสนบาท/ทุน แก่ดุษฎีบัณฑิต คปก. 20 คน ที่จบไปแล้วไม่เกิน 3 ปี ได้เริ่มต้นทำวิจัยโดยมีอาจารย์ที่ปรึกษาเดิมเป็นนักวิจัยพี่เลี้ยงคอยช่วยเหลือให้ตั้งตัวได้ เพื่อให้เกิดโมเมนตัม คือ เพื่อให้ความเป็นนักวิจัยแบบ คปก. ของทุกคนไม่สะดุดหยุดชะงักหลังจากเรียนจบ



ดังนั้น คปก. นอกจากจะสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ ผลิตผลงานวิจัยคุณภาพสูงแล้ว ยังสร้างบรรยากาศวิจัยที่ดีในสถาบันการศึกษาของไทย มีส่วนในการวิจัยของภาคอุตสาหกรรม คือ สร้างความเจริญก้าวหน้าให้กับประเทศไทยในแนวทางที่ตนถนัด สร้างเครือข่ายทั้งในด้านวิชาการ สังคม และด้านอื่น ๆ กับเพื่อน ๆ/อาจารย์ในต่างประเทศอีกด้วย ยิ่งเรามีการให้ทุนแก่นักศึกษาอาเซียน ภายใต้ยุทธศาสตร์ใหม่ของ คปก. ที่ได้ ศ.ดร. อาทิวรรณ โชติพฤกษ์ มาช่วยบุกเบิกไว้ ก็ยิ่งคาดหวังว่าจะเกิดอะไรดี ๆ ขึ้นอีกมาก



เพื่อวางตำแหน่งของ คปก. ให้เหมาะสม เป็นโครงการที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการผลิตกำลังคนระดับสูง ผู้บริหาร คปก. จึงต้อง “หูตากว้างไกล” คือ ต้องแสวงหาพันธมิตร และเรียนรู้เรื่องราวต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศอยู่ตลอดเวลาให้ทันเหตุการณ์ ต้องทำงานมีจังหวะจะโคน มีไหวพริบ ระยะที่ดูแล คปก. จึงมักจะเข้าร่วมกิจกรรมของหน่วยงานอื่น ๆ พาตัวเองไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ต่าง ๆ โดยพาเจ้าหน้าที่บริหารโครงการ คปก. ไปด้วยเสมอ เพื่อให้น้อง ๆ มีโลกทัศน์ที่กว้างไกลขึ้น คิดนวัตกรรมการบริหารจัดการเป็น และทำงานแบบเติมเต็มซึ่งกันและกันในลักษณะ “สานพลัง สร้างชาติ”


ก็ไม่ได้เป็นห่วงในเรื่องคุณภาพวิชาการของนักศึกษา คปก. ถ้ายังเป็นไปตามเกณฑ์แบบนี้ แต่ที่เห็น คือ นักศึกษา คปก. หลายคนยังขาดทักษะหลายอย่างที่สำคัญในชีวิตความเป็นนักวิจัย และความเป็นประชาคมโลก ดังนั้น ในช่วงที่เข้ามารับผิดชอบ คปก. จึงได้มอบหมายให้มีคณะผู้ประสานงานเพื่อกิจกรรมพิเศษของ คปก. ได้แก่ รศ.ดร. บัญชา พูลโภคา ผศ.ดร. สุทธินันท์ พงษ์ธรรมรักษ์ ผศ.ดร. สุภาวดี เกียรติเสวี และ ผศ.ดร. ปุณณมา ศิริพันธ์โนน จัดกิจกรรมมากมาย เช่น “คปก.สัญจร” โดยเชิญผู้รู้ในวงการต่าง ๆ อภิปรายให้แนวคิด เพื่อเปิดโลกทัศน์ให้อาจารย์/นักศึกษา คปก. รู้กว้างขึ้น คือ ทำวิจัยที่ชอบได้ แต่ต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ประเทศด้วย มองชีวิตที่ไกลกว่าแค่เรียนให้จบ แค่ผลิตผลงานที่ตีพิมพ์ paper เท่านั้น



เมื่อเข้ามาดูแล คปก. ก็ตระหนักถึงเรื่องเหล่านี้เป็นอย่างดี หลังจากปรึกษากับอาจารย์ทั้ง 2 ท่าน จึงได้กำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ข้อ 1 คือ “คปก. โลกาภิวัตน์” เพื่อเป็นเป้าหมายให้นักศึกษา คปก. ศึกษาวิจัยวิทยาการเพื่อก้าวให้ทันการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยเฉพาะการไปร่วมทีมวิจัยกับอาจารย์ที่ปรึกษาร่วมในต่างประเทศในสถาบันชั้นนำ จะเห็นได้จากในใบสมัครรุ่นที่ 19 ที่ขอให้ระบุการจัดอันดับของสถาบันของอาจารย์ที่ปรึกษาร่วมในต่างประเทศประกอบการพิจารณาให้ทุน ซึ่งผู้ประเมินซึ่งเป็นผู้รู้ในสาขานั้น ๆ จะเป็นผู้บอก คปก. ว่าเหมาะสมแล้วหรือไม่ ถ้ายังไม่เหมาะ คปก. ก็จะขอให้เปลี่ยน
นอกจากนี้บางสาขาที่ทันสมัยมาก ๆ คปก. อาจไม่มี “แม่ไก่” ซึ่งก็ต้องวางแผนสร้าง “แม่ไก่สายพันธุ์ใหม่” ไปพร้อมกันด้วย

